เขียนธรรม โดย ปุรณะ
พระพิศาลมงคลวัฒน์(หลวงพ่อยูร)วัดศรัทธาประชากร (เขารวก) อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี

เสียงธรรมจากพระป่า         โดย ปุรณะ

พระพิศาลมงคลวัฒน์(หลวงพ่อยูร) สอนกรรมฐาน พิจารณาเบญจขันธ์

วัดศรัทธาประชากร (เขารวก) ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ประวัติครั้งเป็นฆราวาส

บ้านหนองโพ เมืองนครสวรรค์ เป็นถิ่นดินแดนแห่งครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและสำเร็จคุณธรรมอันสูงสุดหลายรูปมาแล้วในอดีต จนถึงปัจจุบันนี้เช่นกัน ก็ยังมีพระผู้ตั้งใจหมั่นทำความเพียรปฏิบัติตามรอยครูบาอาจารย์อยู่ตลอดมา หลวงพ่อยูร”  ก็เป็นศิษย์รูปหนึ่งและทั้งยังเป็นหลานของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ โดยกำเนิด เคยอยู่ใกล้ชิดเคยฟังธรรมและได้ปฏิบัติรับใช้มาตลอดตั้งแต่ยังเป็นเด็กเยาว์วัย

ย้อนหลังไปสมัย40-50ปีก่อนหน้านี้ บ้านหนองโพ คือบ้านนอกที่ห่างไกลความเจริญอยู่มากไม่เหมือนทุกวันนี้ที่มีความเจริญ ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนหนทาง ไปไหนมาไหนกันทีก็ใช้เกวียนใช้ม้าในการเดินทางค้าขายไปมาหาสู่กัน ที่นี้จึงเป็นถิ่นที่ลำบากแต่ก็สบายตามประสาของชาวบ้านทั่วๆไป หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเกิดที่นี้และโตที่นี้มีชีวิตและประสบการณ์มากมายในสมัยเป็นหนุ่มๆและท่านได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า ในสมัยหนุ่มๆก็เป็นคนไม่ยอมคนเหมือนกันแต่ก็ไม่ใช้คนเกเรเป็นนักเลงอะไร เพียงแต่รักความยุติธรรม อันไหนเรื่องใดถ้าไม่ถูกต้องตามทำนองครองธรรมแล้วเป็นไม่ยอมเหมือนกันก็ดูคล้ายๆเป็นคนหัวดื้อไปแต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เรียกว่าเป็นคน ยอมหักแต่ไม่ยอมงอไม่ยอมก้มหัวให้ใครถ้าไม่ถูกต้อง หลายต่อหลายครั้งที่มักมีปัญหากับหมู่คนในต่างถิ่นและบ้านเดียวกัน จนกระทั้งเกิดเรื่องเกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกันเรียกว่าถึงขึ้นตีกันก็ยังเคย และที่หนักมากๆก็ตอนที่ได้แต่งงานมีลูกเมียเหมือนชาวบ้านทั่วๆไป ก็มีปัญหามีคู่อริที่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน ทำให้ต้องลำบากและต้องคอยระวังตัวจากการถูกลอบทำร้ายจึงต้องพกปืนคู่กายอยู่ตลอดเวลาคือ11ม.ม.และที่บ้านก็มีลูกซองยาวอีก1กระบอก เพื่อป้องกันตัวแต่ก็ไม่เคยไปคิดทำร้ายใคร แค่ไว้ป้องกันตัวเท่านั้น และก็มีเหตุจนได้เหมือนกัน คือมีอยู่วันหนึ่งช่วงค่ำๆขณะนั่งคุยอยู่กับภรรยาและหยอกล้อเล่นกับลูกน้อย แต่สายตาพลันเหลือบไปเห็นว่ามีเงาตระคลุ่มๆดำๆจากชายป่าหลังบ้านและได้ยินเสียงฝีเท้าที่ย่องเข้ามาเงียบกริบ ทำให้ต้องรีบเข้าที่กำบังหลบอยู่ข้างตุ่มน้ำ พร้อมยกปืนลูกซองพาดปากตุ่ม มีเป้าหมายสังหารเด็ดชีพผู้มาเยือน เมื่อมาได้ระยะยิง กำลังตัดสินใจเหนี่ยวไกรปืน พลันได้ยินเสียงตะโกนสุดเสียงจากผู้มาเยือนว่า พี่ทิดดดดดดดดดดดใจหายวาบเลย น้องชายกับพี่เขย ของเราเอง เกือบไปแล้ว เกือบฆ่าน้องตัวเอง ทำให้ใจสลดคิดไป ชีวิตของการเป็นนักเลง ต้องหวาดระแวง ระวังตัวตลอด ชั่งเป็นทุกข์เสียจริงนี่กระไร

และนี้คือที่มาของชีวิตพระภิกษุรูปหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดในดินแดนแห่งนี้ ใช้ชีวิตต่อสู้ ดิ้นรน มาตลอดตั้งแต่เด็กๆจนเป็นหนุ่มใหญ่ ได้แต่งงานกับหญิงบ้านบ้านคนหนึ่ง มีบุตร2คน แต่คนแรกได้เสียไปตั้งแต่เล็กๆ เพราะความยากจน และลำบากมาก จนมีลูกคนที่สอง ชีวิตที่ผ่านมา จึงมีความคิดที่แปลกๆและนิสัยเริ่มเปลี่ยนจากความเป็นคนแข็งกร้าว เป็นนักเลงที่ใครๆก็ต้องสยบให้ แต่พอมีลูกมีเมีย กลับชอบใช้ชีวิตไปด้านศีลธรรม มักเข้าวัดไปฟังธรรม รับศีลพระอยู่เสมอ จนเพื่อนๆเรียกว่า มหา

วันๆมักใช้เวลาส่วนมากไปนั่งคุยเรื่องศีลเรื่องการปฏิบัติรักษาศีล กับชายผู้สูงอายุคนหนึ่ง แกให้สติเตือนใจ จนจำมาทุกวันนี้และคำๆนี้ก็เป็นเหตุได้คิดถึงเรื่องการบวช แกบอกว่า ยูร เอ๋ย จะไปรับศีลกับพระทำไมทุกๆวัน ถ้าพระไม่มี แล้วจะไปรับกับใคร ทำไมไม่ทำศีลให้มีขึ้นในจิตใจเองล่ะมันเป็นคำพูดของคนแก่ๆแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตเมตตา

หลังจากวันนั้นมา ก็มานั่งขบคิดเรื่องนี้มาตลอดและตกลงใจที่จะบวชเป็นพระขึ้นมา เพราะเวลาที่ผ่านมา ก็ไม่ค่อยได้มีเวลาให้กับภรรยาเลย เอาเวลาไปนั่งสมาธิ ฝึกฝนอบรมจิตอยู่ตลอด จนภรรยาบอกว่า ถ้าอยากบวช ก็ไปบวชเถอะ ฉันขออนุโมทนากับพี่ด้วยต่อมาจึงได้เดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองลพบุรี ไปเข้าวัดที่ห่างจากบ้านเพื่อจะได้ตัดความอาลัยต่อครอบครัวและขออยู่เป็นผ้าขาวเพื่อเตรียมตัวขอบวช แต่ในระหว่างเป็นผ้าขาวนั้น ทางบ้านได้มาแจ้งข่าวร้ายว่า ภรรยาได้หนีไปแล้ว ทิ้งลูกน้อยไว้ สงสัยจะต้องกลับไปดูเลี้ยงลูก คงไม่ได้บวชแล้ว จึงกลับมาบ้านอีกครั้ง แต่ด้วยบุญกุศลบารมีเก่าที่จะได้บวช คุณแม่ ได้บอกว่า อยากบวชก็บวชเถอะ ลูกคนเดียว เดี๋ยวแม่จะเลี้ยงให้เอง ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกรู้สึกว่าเหมือนมีพระมาโปรด แม่ช่างเป็นแม่ประเสริฐของลูกจริงๆเลย สมกับคำว่า แม่

ชีวิตในวัยบวช

มีนามเดิมว่า ประยูร พุ่มอินทร์ ฉายา (ตนฺติสาโร) บิดา นายอุ่น พุ่มอินทร์ มารดา นางหลง พุ่มอินทร์ เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้อง ๑๐ คน เกิดเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ตรงกับวันเสาร์แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๑๑ ปี มะเส็ง ที่บ้านหนองโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหลานหลวงพ่อเดิม พุทธสโร (พระครูนิวาสธรรมขันธ์) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และเจ้าคณะแขวนจังหวัดนครสวรรค์ อุปสมบทเมื่ออายุครบอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัด นครสวรรค์ มีพระครูนิพนธ์ธรรมคุต (หลวงพ่อน้อย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อ้อนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองคำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

        มีความสนใจในภาคปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงฝากตัวเป็นศิษย์พระราชธรรมโมลี ได้อุปสมบทใหม่เป็นพระธรรมยุติ ณ พัทธสีมา วัดทุ่งสิงโต ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมีพระราชธรรมโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสังฆรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ชวน เขมิโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อบวชแล้ว ก็พากเพียรปฏิบัติและเดินธุดงค์ ผ่านป่าภูเขา และสัตว์ร้ายต่างๆมามาก ได้ศึกษากรรมฐาน รู้สึกมีความซาบซึ้งและมีสมาธิดีมาก จนวันหนึ่งก็พบทางแห่งความแสงสว่างแห่งความจริง เมื่อได้พบหนังสือเล่มหนึ่ง ของท่านเจ้าคุณอุบาลี เรื่อง เบญจขันธ์ จึงได้อ่านและทำตามในแนวกรรมฐาน โดยการรู้จักการแยก เบญจขันธ์เป็นส่วนๆ ตั้งแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นได้แจ้งชัดขึ้นในจิตของเราเอง

เบญจขันธ์คืออะไร

สิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่าง ๆที่ มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อย ๆ คือ "รถ" เมื่อนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกว่า "รถ" แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลายซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนปะกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า "รถ" สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ นั้นเองก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อย ๆ ต่อ ๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมเข้าด้วยกันเมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบนี้ แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตรโดยวิธีแบ่งแบบขันธ์ ๕

·         รูป ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานเหล่านั้น

·         เวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ

·         สัญญา ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่าง ๆ อันเป็นเกตุให้จำอารมณ์นั้น ๆ ได้

·         สังขาร ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่าย ๆ ว่าเครื่องปรุงของความคิดหรือเครื่องปรุงของกรรม

·         วิญญาณ ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจขันธ์ ๔ ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและเพื่อป้องกันความสับสน ดังนี้

สำหรับสาระธรรมดีๆในฉบับนี้คงจะจบเรื่องราวของท่านเจ้าคุณพิศาลมงคลวัฒน์ แห่งวัดศรัทธาประชากร ไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับท่านใดมีข้อขัดข้องสงสัยหรืออย่างไปกราบท่านเจ้าคุณพิศาลมงคลวัฒน์ เพื่อสนทนาธรรมก็ขอเชิญได้ทุกเวลาแต่ต้องติดต่อสอบถามไปได้ที่สำนักงานผู้พิทักษ์ปวงชน ฝ่ายข่าวธรรมะ วัดถ้ำบาดาล โทร.08-9028-3987,036-346323 ,08-1267-6416 ยินดีบอกทางและแนะนำเส้นทางให้ตลอดเวลา และในฉบับหน้าผมจะได้นำสาระธรรมจากพระผู้อยู่ป่ามาแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจธรรมะแนวพระป่า ในโอกาสต่อไป โปรดติดตามนะครับ เจริญธรรม..
โพสเมื่อ : 03 ก.พ. 2559,19:36   อ่าน 2281 ครั้ง