ประคำ108 พลังพุทธานุภาพ โดย ปุระณะ
หลังจากห่างหายกันไปนานเกือบ2ปี
ฉบับนี้ นามปากกา “ปุระณะ” กลับมาเขียนเรื่องราวสาระธรรมสิ่งที่น่าสนใจอีกครั้ง
ก่อนหน้านั้นที่จะได้เขียนเรื่องลูกประคำ เพราะเกิดเหตุ
มีนิมิตเกิดขึ้นก่อนจะได้กลับมาเขียนงานลงนิตยสารผู้พิทักษ์ปวงชน นิมิตไปว่า
ได้เดินขึ้นไปบนยอดภูเขา “ถ้ำดาวเขาแก้ว” ระหว่างทางเดินที่กว้างพอรถยนต์วิ่งได้
ทางสูงชัน ใกล้ๆจะถึงยอด พบกุฏิ 2-3 หลัง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติได้สวยงาม
น่าพักอาศัยเป็นที่รื่นรมย์ดีเหมาะกับการเจริญภาวนามาก มีเสียงเชิญให้มาพักที่นั้น
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาจะมาพัก เพราะต้องการขึ้นไปบนยอดเขา
พบประคำอยู่บนพื้นดินบริเวณข้างกุฏิ
อาจารย์ประทวน อตฺตทีโป
ข้าพเจ้าเดินมาเรื่อยๆจนถึงยอดเขา
มีลมพัดผ่านกาย รู้สึกถึงความเย็นสบาย ธรรมชาติช่างดูงดงามเกินบรรยาย สถานที่บนยอดเขาเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
เหมาะสำหรับผู้ชอบเจริญภาวนากรรมฐาน เงียบสงบ
ยืนสงบนิ่งอยู่พักหนึ่งทำสมาธิจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง ในใจภาวนาว่า”พุท-โธๆๆ”
พอความสงบเกิดขึ้น
จิตภายในก็บอกให้เราเดินไปที่ข้างๆกุฏิหลังหนึ่งเป็นที่พักของพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติกรรมฐานเจ้าสำนักที่นี้
เดินไปข้างๆกุฏิ จึงพบสิ่งที่จิตภายในบอก
คือ”ลูกประคำ3เส้น”ที่อยู่บนพื้นดินมีดินกลบไว้แต่ไม่มิดดีนะพอมองเห็น
จึงเข้าไปเก็บเอามาล้างน้ำที่ข้างๆมีธารน้ำไหล ล้างได้พอสะอาดก็ปรากฏพระอาจารย์ประทวน
อตฺตทีโป แต่งกายชุดสีดำคล้ำคล้ายชุดฤษี ได้มานั่งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่
ตรงหน้า ข้าพเจ้าจึงนำลูกประคำเข้าไปกราบท่าน ได้สนทนากับท่านพักหนึ่ง
ก็ได้บอกท่านว่า ผมได้พบลูกประคำข้างๆกุฏิของท่าน จะขออนุญาตนำไปใช้ภาวนา
ท่านมองด้วยความเมตตาและบอกว่า “เอาไปเลย ผมให้ท่าน
ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการภาวนา”
สิ่งทั้งหลายมาแต่”เหตุ”
หลังจากได้นิมิต
ก็พยามพิจารณาธรรมที่ได้เข้านิมติมาตลอดว่าเป็นเหตุอะไรเราจึงนิมิตได้ลูกประคำ3เส้น
ได้ขบ คิดปัญหาลูกประคำ3เส้น ก็ได้คำตอบในด้านทางโลกคืออีก 3 วัน ต่อมา
บก.นิตยสารผู้พิทักษ์ปวงชน ก็แชลผ่านFb ขอนิมนต์ช่วยเขียนธรรมะ”ข้อคิดข้อธรรม” 3เรื่อง
ข้าพเจ้าจึงร้องอ้อนึกว่าอะไร นินิตบอกว่าเราจะได้กลับมาเขียนธรรมะนี้เอง แต่ความคิดก็ยังน้อมไปในด้านธรรมอีกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ความไม่เที่ยงแท้ในสภาวธรรมทั้งหลาย ทุกสิ่งเมื่อมี เกิดขึ้นก็ตั้งอยู่และดับเสื่อมสลายไปที่สุดไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราได้ตลอดกาล
กายสังขารเราก็เสื่อมไปเรื่อยๆ
ทั้งรูปและนาม เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
สิ่งทั้งหลายในโลกถ้าเราไปยึดว่าเป็นของเรา เราก็เป็นทุกข์ การที่เราได้ลูกประคำ 3
เส้น ก็เช่นกัน คือให้เรายึดเอา พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ไว้เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ให้มีสติอยู่กับกายตลอดไป
ลูกประคำ
คืออะไร
"ลูกประคำ"
มีความหมายตามหลักวิชาการว่า ลูกกลม ๆ ร้อยด้วยเชือกเป็นสิ่งสำหรับบริกรรมภาวนา
"ลูกประคำ" ตามความหมายของนักนิยมสะสมพระเครื่อง
-เครื่องรางของขลังนั้นมีความหมายคือ "ลูกประคำ" เป็นเครื่องรางของขลังที่นิยมพกพา
หรือคล้องคอ เพื่อให้มีพลังพุทธานุภาพในการคุ้มครองป้องกันภัย และในด้านศาสนา
ถือกันว่าเป็นเครื่องทำจิตใจ ให้เข้าสู่ภาวนาสมาธิ เพื่อฝึกจิตตานุภาพให้แข็งแรง
อดทนต่อการก่อกวนแห่งกิเลสทั้งปวง ในทางพระเวทย์ ถือว่า "ลูกประคำ" เป็นเครื่องกำหนดคาบการภาวนาในการฝึกจิตหรือร่ายพระเวทย์วิทยาคมทั้งหลาย
ให้เกิดพลังอำนาจขึ้นอีกเป็นทวีคูณ และในด้านวิชายุทธโบราณของจีนหรือกำลังภายในนั่นเอง
ซึ่ง ส่วนทางด้านพระของจีนก็มี "ลูกประคำเหล็ก" อย่างเช่น ของหลวงจีน วัดเส้าหลิน
เอามาเป็นเครื่องป้องกันตัวจากคมอาวุธได้ และยังใช้ในการสวดภาวนารวมไปกับบักเต้า
(เครื่องเคาะจังหวะ) ได้อีกด้วยเช่นกัน
"ลูกประคำ"
มีมาตรฐานกำหนดเม็ดประคำ
นับจากลูกปลายล่างสุดจนจรดปมที่ผูกมัดร้อยด้วยประคำรวมกันได้ 108 เม็ด จำนวน 108
เม็ดนี้ถือว่าเป็นเลขมงคลทั้งพุทธ และพราหมณ์ไปจนถึงอาถรรพณ์เวทย์ พระอรหันต์ 108
รูป สวดสาธยายพระคาถา 108 จบ ว่า 108 ชนิด ถ้าพูดถึงอะไรก็ตามที่ลงด้วย 108
แล้วจะขลังดีขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
วิธีทำลูกประคำตามตำราโบราณ
ลูกประคำ ตามตำราโบราณ
จะใช้พวกว่านมงคลต่างๆ108ชนิด มาบดผสมกันเข้ากับยาจินดามณีผสมปูนให้แข็งและเคลือบด้วยรัก
เจาะรูตรงกลางเม็ด น้ำแผ่นทองม้วนเป็นตะกรุดสอดไปในรูเป็นแกนกลางสำหรับร้อยเชือก
โดยเอาไหม7สีหรือด้ายสายสินธุ์7เส้นถักให้เป็นเส้นเชือกร้อยลูกประคำที่เตรียมไว้
ในเวลาต่อมาได้นำใบลานมาบดบ้าง หรือ
บ้างก็นำมาเผาแล้วบด โดยจะผสมคลุกรัก ปั้นเป็นเม็ดกลมๆทำเป็นลูกประคำ
เป็นที่นิยมกัน ต่อมาใช้วัสดุต่างๆเช่น ไม้จันทร์หอม จันทร์แดง ไม้งิ้วดำ
ไม้มงคลต่างๆมากลึงให้เป็นเม็ดกลมๆทำเป็นลูกประคำ งาช้าง กระดูกช้าง กระดูกปลาวาฬ และต่อมาในยุคปัจจุบันตอนนี้ก็ใช้
ลูกปัดแก้ว เรซิ่น พลาสติก เป็นลูกประคำสำเร็จรูป
เมื่อนำสรรพสิ่งที่ว่ามารวมกันแล้วท่านว่ามี”ศิริอานุภาพ” ของประคำใช้ป้องกัน เขี้ยวงา ศาตราวุธ และป้องกันการกระทำคุณไสย ใช้ภาวนาเป็นคาถาแคล้วคลาด
และนำติดตัวเป็นเสน่ห์ได้อีกด้วยเช่นกัน
ประคำของประเทศต่างๆ
ความศักดิ์สิทธิ์ของสายประคำมักเป็นที่พูดถึงทั่วๆไป มักจะเชื่อเรื่องลี้ลับทางไสยศาสตร์และ
ความเชื่อที่แตกต่างกันทำให้ประคำของแต่ละประเทศมีความหลากหลายไปด้วยเช่นกัน
- ญี่ปุ่น
ประคำสำหรับสวดมนต์เรียกว่า ojuzu หรือ onenju ชาวพุทธญี่ปุ่นมีหลายนิกาย
ประคำในแต่ละนิกายมีรูปร่างและการใช้แตกต่างกัน เช่น นิกายพุทธ Shingon,
Tendai และ Nichiren ใช้ประคำสายยาว
ส่วนนิกาย Jodo Shinshu ใช้ประคำสายสั้นกว่า
ใช้พร้อมกัน 2 เส้น คล้องไว้กับมือ 2
ข้าง แยกกันข้างละ 1 เส้น และจะไม่นำมาคล้องรวมกัน ส่วนใหญ่นิยมร้อยด้วยลูกประคำ 108
เม็ด และเริ่มมีการร้อยด้วยเม็ดพลาสติกเป็นช่วงๆ สลับกับวัสดุอื่น
อย่างไม้หรือเมล็ดจากต้นไม้ในอินเดีย เช่น Ficus religiosa ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์เดียวกับต้นโพธิ์
หรือมีการตกแต่งภาพภายในลูกประคำเม็ดที่ใหญ่ที่สุด
ซึ่งมักเป็นภาพของส่วนใดส่วนหนึ่งของวัดหรือนิกาย
เมื่อนำมาส่องกับแสงไฟจะมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
- จีน
ในวัฒนธรรมจีน เรียกประคำว่า shu zhu, fo zhu หรือ
Nian zhu ใช้นับจำนวนมนต์ บทสวดที่ต้องสวดซ้ำไปซ้ำมา
นับจำนวนครั้งของการหมอบกราบ หรือนับลมหายใจ
- พม่า
ชาวพุทธเถรวาทในพม่า ใช้ประคำที่เรียกว่า seik badi หรือเรียกสั้นๆว่า
badi มีลูกประคำ 108
เม็ด ทำจากไม้หอมอย่างไม้จันทน์ มีพู่สายสีสดใสห้อยอยู่ที่ส่วนปลายของประคำ
มักใช้เพื่อนับจำนวนรอบที่สวดมนต์ซ้ำไปมาในระหว่างปฏิบัติสมถกรรมฐาน
- ไทย จากบันทึกต่างๆ ทำให้ทราบว่า
ลูกประคำแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระสงฆ์บางรูปทางภาคเหนือก็นิยมใช้ประคำในการเจริญภาวนา
เช่น ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ฯลฯ แต่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นเครื่องรางของขลัง
เป็นวัตถุมงคลเพื่อให้คุ้มครองตน ป้องกันการกระทำคุณไสย เป็นต้น
วิธีการนับลูกประคำ
การนับลูกประคำเป็นวิธีหนึ่งในการภาวนาให้ถึงศีล
สมาธิ ปัญญา เป็นอุบายในการฝึกสติอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีสติก็จะนับไม่ถูก
เพราะต้องนับจำนวนจบที่สวดมนต์และบริกรรมไปแล้ว ให้ได้ตามจำนวนที่ตั้งจิตไว้แต่แรก
การนับ ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ท่านได้ย่อพระคุณของพระรัตนตรัยไว้ เพื่อสะดวกแก่การสวดสาธยาย โดยจัดพุทธคุณไว้ ๕๖
พระธรรมคุณ ๓๘ และพระสังฆคุณ ๑๔
รวมเป็น ๑๐๘
วิธีนับนั้นท่านกำหนดให้นับตามอักษร พุทธคุณ
๕๖ เริ่มตั้งแต่ อิ
ติ ปิ โส
ภะ คะ วา
อะ ระ หัง
สัม มา สัม
พุท โธ วิช ชา
จะ ระ
สัม ปัน โน
สุ คะ โต
โล กะ วิ
ทู อะ นุต
ตะ โร ปุ
ริ สัท ธัม
มะ สา ระ
ถิ สัต ถา
เท วะ มะ
นุส สา นัง
พุท โธ ภะ
คะ วา ติ
นับรวมได้ ๕๖ คำ
นี่คือ พุทธคุณ๕๖ พระธรรมคุณ ๓๘
นับเริ่มตั้งแต่ สฺวาก ขา
โต ภะ คะ
วะ ตา ธัม
โม สัน ทิฏ
ฐิ โก อะ
กา ลิ โก
เอ หิ ปัส
สิ โก โอ
ปะ นะ ยิ โก
ปัจ จัต ตัง
เว ทิ ตัพ
โพ วิญ ญู
หี ติ นับรวมได้
๓๘ คำ นี่คือ
พระธรรมคุณ ๓๘
ส่วนพระสังฆคุณ ๑๔
นั้น ท่านกำหนดให้ท่องนับท่อนเดียว คือ สุ
ปะ ฏิ
ปัน โน ภะ
คะ วะ โต
สา วะ กะ
สัง โฆ นับรวมได้
๑๔ คำ นี่คือพระสังฆคุณ ๑๔
รวมพุทธคุณ ๕๖ พระธรรมคุณ
๓๘ พระสังฆคุณ ๑๔
นี่คือ ที่มาของลูกประคำ ๑๐๘ ในความหมายนี้เพื่อให้เราได้น้อมจิตให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ทำให้มีจิตใจที่ตั้งมั่นในสมาธิ ก่อนเจริญวิปัสสนา เป็นฐานของจิตก่อให้เกิดปัญญาความพ้นทุกข์
สู่พระนิพพานอันเป็นบรมสุขตลอดนิรันกาล
เอกสารอ้างอิง : จากวิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี, หนังสือลูกประคำ108 , เว็บไซด์ลูกประคำ อิทธิปาฏิหาริย์
ปุระณะ |