อริยทรัพย์ ๗ ทรัพย คือคุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ
เรียกอริยทรัพย์ มี ๗ อย่างคือ อริยทรัพย์ หมายถึงทรัพย์อันประเสริฐ
หรือทรัพย์ของพระอริยะ เป็นคุณธรรมที่ทำนุบำรุงจิตใจไม่ให้เคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยว
ดีกว่าทรัพย์สินเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอก ๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ๒. สีล รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต ๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก
คือทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก ๖. จาคะ
สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน ๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ๑. ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาด้วยเหตุและผล
ไม่ใช่น้อมใจเชื่อไปตามเขาโดยปราศจากการใคร่ครวญ สัทธานี้มี ๔ ชนิดคือ ๑.เชื่อกรรม
คือสิ่งที่บุคคลทำจะดีหรือชั่วมีผล ๒.เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าที่บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ก็เพราะกรรมดีหรือชั่วที่ตนทำไว้ ๓.เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ๔.เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. สีล หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย
ในทางปฏิบัติคือการงดเว้นจากการประพฤติผิดด้วยกายวาจาเมื่อมีศีลจึงมีความสง่าผ่าเผยในการเข้าสังคม
เพราะไม่กลัวต่อคำนินทาจากใครๆ ๓. หิริ หมายถึง ความละอายต่อบาปทุจริต ๔. โอตตัปปะ หมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อบาป (๓,๔ ดูการอธิบายในธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง) ๕. พาหุสัจจะ หมายถึง
ความเป็นคนได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก เป็นผู้ศึกษามากมีความรู้มีประสบการณ์มาก
หรือเรียกง่ายๆ ก็คือความเป็นผู้คงแก่เรียนเกิดจากการขยันหาความรู้ ๔ ทางคือ
การฟัง การคิด การสอบถาม และการบันทึก ผู้มีความรู้ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ
เฉลียวฉลาดในการตอบคำถามจากผู้อื่น ไม่ประหม่าตกใจเมื่อถูกถาม กล้าที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นที่ถูกต้อง ๖. จาคะ หมายถึง
การสละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
การสละสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขผู้อื่นเป็นการกำจัดความเห็นแก่ตัว
ความตระหนี่ใจแคบให้ออกไปจากสันดาน ผู้พิจารณาแล้วให้ถือว่าเป็นผู้มีปัญญา ๗. ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ความรอบรู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ทั่วถึงเหตุและผลถึงสิ่งที่ควรทำและไมทำควรทำ
ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้มีความกล้าหาญองอาจไม่มีความสะดุ้งกลัว ต่อเหตุใดๆ
เพราะมีปัญญาสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อถูกไต่ถามก็กล้าที่จะตอบโดยทันที หรือแม้ตกอยู่ในภาวะอันตราย
ก็กล้าคิดหาอบายให้เอาตัวรอดได้ ธรรมทั้ง ๗ นี้ เรียกว่า อริยทรัพย์
ทรัพย์ที่ประเสริฐ เพราะเป็นเครื่องบำรุงจิตให้อบอุ่น แม้จะตายก็ไม่เปลี่ยวใจ
เพราะรู้สึกว่าได้เตรียมทรัพย์สำหรับเดินทางในปรโลกไว้พร้อมแล้ว
เชื่อว่าคงไม่ไปทุคติ มีแต่ไปสู่สุคติฝ่ายเดียว
และสามารถซื้อหรือแลกเปลี่ยนเอาโลกุตระทรัพย์ได้ อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้
ดีกว่าทรัพย์ภายนอกมีเงินทอง เป็นต้น เพราะเงินทองเป็นต้นนั้น
ถ้ามีมาก็ยุ่งยากในการรักษาป้องกันโจรภัยเป็นต้น
แม้มีน้อยก็ต้องคอยระวังภัยบางอย่างเหมือนกัน และเมื่อใช้ไปก็หมดไปต้องหาใหม่มาเพิ่มเติม
หากหาไม่ทันก็เดือดร้อนอีก บางคนต้องเสี่ยงอันตรายเอาชีวิตเข้าแลกกับเงินทอง
เป็นต้น แต่อริยทรัพย์ยิ่งมีมากยิ่งอิ่มใจ สบายใจมาก
ไม่ต้องลำบากในการคุ้มครองป้องกันโจรภัย เป็นต้น เป็นของเฉพาะตัว
ใครแย่งชิงไปไม่ได้ แม้มีน้อยก็สุขใจ เย็นใจ ไม่ต้องกลัวภัย ไม่ต้องกลัวหมด
เพราะยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงภัยในการแสวงหา เพราะฉะนั้น ท่านจึงแนะนำว่า
ควรแสวงหาไว้ให้มีในสันดาน หมายความว่า ทุกคนสมควรแสวงหาอริยทรัพย์ไว้ให้มีในตน
คือควรฝึกฝนตนให้เป็นคนมีศรัทธา มีศีล มีหิริ-โอตตัปปะ-พาหุสัจจะ-จาคะ และปัญญา เมื่อฝึกได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยากจน
ชีวิตย่อมมีคุณค่ามีสาระ ไม่ว่างเปล่าประโยชน์
เคดิต : ธรรมะจาก นวโกวาท นักธรรมตรี หมวด สัตตกะ หมวดที่ ๗ |